เริ่มเล่นภายใน วินาที
ดูจะไม่พลิกความคาดหมายใครหลายคน เมื่อที่ประชุม สนช.มีมติเห็นชอบผลการตรวจสอบของคณะกรรมการจริยธรรม สนช.ว่า 7 สนช.ที่ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในวันประชุมตามข้อบังคับ สนช.เกินจำนวนที่กำหนดไว้ ไม่เข้าข่ายผิดจริยธรรม /ขณะที่วันนี้ ที่ประชุม สนช.ได้มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับใหม่ ซึ่งมีการตัดเนื้อหาเรื่องหมวดที่ว่าด้วยการสิ้นสมาชิกภาพ สนช.กรณีแสดงตนเพื่อลงมติน้อยกว่าที่ข้อบังคับกำหนดไว้ออก ให้เหตุผลเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช. มีมติ 198 ต่อ 1 เสียง เห็นชอบร่างข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาแล้วเสร็จ ซึ่งได้ยกร่างข้อบังคับการประชุม สนช.ใหม่ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 มีทั้งหมด 225 ข้อ โดยปรับแก้จากเดิม 19 ข้อ เพื่อนำมาใช้แทนข้อบังคับการประชุม สนช.ปี 2557 ที่ยกเลิกไป และจะบังคับใช้ทันทีหลังมีการประกาศในราชกิจานุเบกษา
ขณะที่ ข้อบังคับการประชุม สนช.ฉบับใหม่ได้ตัดเนื้อหาสำคัญในหมวดการสิ้นสุดสมาชิกภาพ สนช. เรื่อง การให้สมาชิกต้องมาแสดงตน เพื่อลงมติในการประชุมสภามากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนครั้งที่มีการลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลา 90 วันออกไป ซึ่งนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ กรรมาธิการร่างข้อบังคับการประชุม สนช. ยืนยันว่า การปรับแก้ไม่ได้ช่วยเหลือ สมาชิก สนช.ที่ขาดประชุม หลังเกิดปัญหากับ 7 สนช.
สอดคล้องกับนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการฯ ร่างข้อบังคับการประชุม ชี้แจงว่า ข้อบังคับฉบับใหม่ไม่มีผลบังคับเรื่องการพ้นตำแหน่งของสมาชิกเหมือนในรัฐธรรมนูญปี 2557 ซึ่งบัญญัติไว้เพื่อแก้ปัญหาสมาชิกรัฐสภาขาดประชุมก่อนหน้านี้ แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดการสิ้นสมาชิกภาพของ ส.ส. และ ส.ว. เมื่อขาดการประชุมเกิน 1 ใน 4
ที่ประชุม สนช.ชี้ 7 สนช.ไม่ผิดจริยธรรม ทั้งนี้ก่อนเข้าวาระเรื่องข้อบังคับการประชุมฯมีการประชุมลับนานประมาณ 1 ชั่วโมง หารือถึงผลการพิจารณาผลการตรวจสอบของคณะกรรมการจริยธรรม สนช. กรณีการตรวจสอบข้อร้องเรียน 7 สนช. ที่ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุม สนช.เกินจำนวนที่กำหนดไว้ ตามข้อบังคับการประชุม สนช.ปี 2557 โดยที่ประชุมเห็นชอบตามผลสอบคณะอนุกรรมการฯที่สรุปว่า ไม่เข้าข่ายผิดจริยธรรม เนื่องจากการลาประชุมของ 7 สนช. ได้ลาตามข้อบังคับ เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของตัวเอง ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา ไม่สามารถมอบหมายผู้อื่นดำเนินการแทนได้.