เริ่มเล่นภายใน วินาที
บ้านปลายเนิน สถาปัตยกรรมทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไทย ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประสูติเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๖ ณ พระตำหนักในพระบรมมหาราชวัง เป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๖๒ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมารดา คือ พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย และทรงเป็นต้นราชสกุล “จิตรพงศ์” เนื่องจากทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าจิตรเจริญ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงรับราชการเพื่อสนองพระเดชพระคุณตลอดมา ทรงดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีหลายกระทรวงทั้ง กระทรวงโยธาธิการ กระทรวงพระคลัง กระทรวงกลาโหม และกระทรวงวัง
ในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีพ.ศ. ๒๔๕๒ ทรงลาออกจากราชการเนื่องจากทรงประชวรด้วยโรคพระหทัยโตและโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เจ้าพระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์ ผู้ที่เป็นทั้งพระญาติและมิตร ได้ชักชวนให้พระองค์มาพักตากอากาศที่ตำบลคลองเตย พระองค์มาแล้วรู้สึกทรงพระสำราญ เนื่องจากที่นี่มีอากาศโปร่งบริสุทธิ์ พระองค์จึงทรงหาซื้อที่นาริมคลองมาแปลงหนึ่งและปลูกสร้างตำหนักจนแล้วเสร็จเมื่อปี ๒๔๕๗ ในที่สุดพระองค์ทรงย้ายจากที่ประทับเดิม คือ วังท่าพระ (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยศิลปากร) มาประทับที่ตำหนัก ณ ตำบลคลองเตย และทรงเรียกตำหนักที่ประทับนี้ว่า “บ้านปลายเนิน”
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ถึงแม้พระองค์ทรงลาออกจากราชการมาประทับที่บ้านปลายเนิน แล้วก็ยังคงทรงงานสนองพระเดชพระคุณในงานช่างและงานประณีตศิลป์ต่างๆ อยู่เป็นนิจ รวมทั้งทรงงานฝีมือสำคัญต่างๆ จากห้องทรงเขียนที่บ้านปลายเนิน
ในปีพ.ศ. ๒๔๖๘ สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสชักชวนให้พระองค์กลับมารับราชการแผ่นดินจึงได้ทรงรับตำแหน่งเป็นอภิรัฐมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เป็นอุปนายกราชบัณฑิตยสภา แผนกศิลปากร และพระองค์ยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการราชวงศ์ มีหน้าที่สนองพระเดชพระคุณในพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ ตำแหน่งสุดท้ายในงานราชการ คือ ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่วันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ จนตลอดรัชกาล
ในบั้นปลายของพระชนม์ ทรงประทับที่บ้านปลายเนินจนสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ ณ ห้องบรรทม ที่ตำหนักตึกในบ้านปลายเนิน รวมพระชันษา ๘๓ ปี
ในปีพ.ศ.๒๕๐๖ อันเป็นปีครบรอบ ๑๐๐ ปีการประสูติ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ยกย่องให้พระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลกประจำปีพุทธศักราช ๒๕๐๖ นับเป็นบุคคลที่ ๒ ของไทยที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก
ปัจจุบัน บ้านปลายเนินเป็นที่อยู่อาศัยของพระทายาทในราชสกุลจิตรพงศ์ และยังเป็นสถานที่ตั้งของมูลนิธินริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อมอบรางวัลนริศรานุวัดติวงศ์ หรือรางวัลนริศ เพื่อให้เกียรติและสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่ นิสิต นักศึกษาและนักเรียนจากทั่วประเทศ ในการศึกษา เรียนรู้ และวิจัยศิลปไทยทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น คีตศิลป์ นาฏศิลป์ จิตรกรรม และสถาปัตยกรรม มาเป็นเวลามากกว่า ๕๐ ปี เพื่อส่งเสริมศิลปินที่มีความรู้ความสามารถให้สืบสานงานศิลป์คู่กับแผ่นดินไทยต่อไป
ในวันที่ ๒๘ เมษายนของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันประสูติ คือโอกาสที่ผู้ได้รับรางวัลนริศและคณะละครสมัครเล่นบ้านปลายเนินจะได้แสดงผลงานต่อสาธารณชน
ผู้ได้รับรางวัลนริศในอดีตคือครูช่างในปัจจุบันและอาจเป็นศิลปินแห่งชาติต่อไป นักเรียนรางวัลนริศหลายคนได้กลับมาสู่บ้านปลายเนินเพื่อสอนรำไทย โขนและดนตรีเมื่อโอกาสอำนวย บุคคลตัวอย่างที่เราภาคภูมิใจ คือ ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ นักเรียนรางวัลนริศที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดี คณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ บ้านปลายเนินจึงเป็นสถานที่ส่งเสริมการอนุรักษ์องค์ความรู้ของครูช่างไทยโดยแท้
ทายาทบ้านปลายเนินเปิดตำหนักไทยให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม ในวันที่ ๒๙ เมษายนของทุกปี และได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม โดยวันนริศปี พ.ศ. ๒๕๖๐ มีประชาชนเดินทางมาชมตำหนักไทยมากกว่า ๒,๐๐๐ คน
ทายาทรุ่นที่สี่ของสมเด็จครูวางผังแม่บทอนาคตของบ้านปลายเนินด้วยการจัดทำทะเบียนภาพแบบร่างฝีพระหัตถ์ของสมเด็จครู ศิลปวัตถุโบราณที่ทรงสะสม และข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันส่วนพระองค์ อีกทั้งเตรียมการซ่อมแซมและอนุรักษ์อาคารสำคัญภายในบริเวณวังคลองเตย ได้แก่ ตำหนักไทย ตำหนักตึก เรือนคุณย่า และเรือนละคร ด้วยความตั้งใจว่าจะได้อนุรักษ์และปรับปรุงอาคารทั้งหมดเพื่อเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ ศูนย์เรียนรู้ และสถานที่อบรมที่สาธารณชนทั่วไปสามารถเข้าชมและศึกษาได้ในวันข้างหน้า
ขอขอบคุณเพลงบรรเลงประกอบ เพลงเขมรไทรโยค จาก www.facebook.com/march.khim2011